สรุปงานสัมมนาเรื่อง "เรียน รอด รอบรู้ ในประเทศญี่ปุ่น" เมื่อวันเสาร์ที่ 6 มิ.ย. 58

123

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ ได้จัดสัมมนา เรื่อง “เรียน รอด รอบรู้ ในประเทศญี่ปุ่น” ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทยที่ศึกษาอยู่ในเขตกรุงโตเกียวและจังหวัดรอบปริมณฑล จำนวน 39 ท่าน มีจุดประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายนักเรียนทุนรัฐบาลในหลายระดับที่ศึกษาหรือต้องการศึกษาในสาขาใกล้เคียงกัน เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลปัญหาในการเรียนในประเทศญี่ปุ่นและประสบการณ์หนทางแก้ไข และเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการศึกษาวิจัยในสาขาวิชานั้นๆ

 การสัมมนาเริ่มจาก อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการศึกษา) น.ส.พรพิศ สมวงษ์   กล่าวเปิดงาน ตามด้วยการแนะนำตัว สาขาที่ศึกษา สถาบันที่ศึกษาของนักเรียนทุนรัฐบาลที่เข้าร่วมงาน หลังจากนั้นเป็นการอภิปรายของวิทยากรนำโดย ว่าที่ร้อยตรีสุเทพ จอยเอกา นักเรียนทุนรัฐบาล (ทุน ก.วิทย์ฯ) ศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุHiroshima University ในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี; วิจัย – พัฒนา – บริการ – ถ่ายทอด (กรณี วว.)” โดยกล่าวเกี่ยวกับ นโยบาย ยุทธศาสตร์และพันธกิจของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งปัญหาที่ประสบจากการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา 7 ปีกว่า พร้อมทั้งให้คติแนวความคิดเมื่อสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับไปปฏิบัติราชการรับใช้ประเทศ

อันดับที่สอง นายณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ นักศึกษาทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ศึกษาระดับป.เอก สาขาวิชา Industrial Engineering and ManagementTokyo Institute of Technologyให้การแนะนำเกี่ยวกับ “หลักสูตร Leading Graduate Schools” ซึ่งนักศึกษาจะได้ทุนสนับสนุนในการทำงานวิจัย มีโอกาสได้ไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นหรือในต่างประเทศ รวมทั้งเข้าร่วมฟอรัมนานาชาติ เป็นต้น หลักสูตรดังกล่าวนี้ได้รับการสนันสนุนจาก Japan Society for the Promotion of Science (JSPS)และกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น มีจุดประสงค์เพื่อยกระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นให้ได้รับการยอมรับเป็นมหาวิทยาลัยในระดับต้นๆ ของโลก เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตที่จะเป็นผู้นำในวงการการศึกษา อุตสาหกรรม และภาครัฐทั่วโลก เพื่อที่จะเชื่อมโยงคณาจารย์และนักศึกษาจากทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่น

อันดับที่สาม น.ส.ปริยาภา อมรวณิชสาร นักศึกษาทุนรัฐบาล (ทุนไทยพัฒน์ฯ) ศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชามนุษย์ศาสตร์หรือสังคมและพฤติกรรมศาสตร์ ณ University of Tsukuba ในหัวข้อ “เรียน รอด กับงานวิจัยเชิงมนุษยศาสตร์ และนำของญี่ปุ่นไปใช้ที่ไทยอย่างไรดี” โดยอ้างอิงแนวความคิดของนักปราชญ์ในสายสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์หลายท่านใช้ในการอภิปราย

อันดับที่สี่ น.ส.วาสนา แผลติตะ นักศึกษาทุนรัฐบาล (ทุน ก.วิทย์) ศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชา Biology เน้น BiotechnologyChiba University ในหัวข้อ “เรียน รอด รู้ สาวเกษตรหัวใจไทย” โดยเริ่มจากให้ข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับสถาบันที่ศึกษาอยู่ และปัญหาที่ตนเองพบขณะเรียนในแต่ละระดับตั้งแต่ระดับปริญญาตรี – ปริญญาเอก พร้อมวิธีการแก้ไข อีกทั้งให้การแนะนำเกี่ยวกับการอยู่รอดในการเรียนและสภาวะแวดล้อมที่ประกอบด้วยเพื่อนชาวญี่ปุ่น ชาวต่างชาติและเพื่อนนักเรียนชาวไทย รวมทั้งการรู้ทั้งในทางตรงและทางอ้อมเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์เกิดแรงจูงใจในการกลับไปปฏิบัติหน้าที่หลังเสร็จสิ้นการศึกษา

ในช่วงบ่ายเป็นการนำเสนองานวิจัยของนักเรียนทุนรัฐบาลไทยที่จะสำเร็จการศึกษาภายในเดือนกันยายน 58 จำนวน 4 ท่าน ได้แก่

นายนที ทองอุ่น นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชา วิศวกรรมไฟฟ้า ณ Tokyo Institute of Technology ในหัวข้อวิจัย “Three Dimensional Position and Velocity Measurement Using Echolocation“ เกี่ยวกับ วิธีการใหม่ของการวัดตำแหน่งและความเร็วของวัตถุในเวลาพร้อมกันซึ่งสามารถถูกนำไปใช้ได้ในการนำร่องของหุ่นยนต์ ข้อดีของระบบที่นำเสนอ ใช้อุปกรณ์ที่มีราคาถูกและมีการประมวณผลที่รวดเร็วเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆ

 นายนันทวัฒน์ ฐิติชัยวรกรณ์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชา Electrical and Electronic Engineering Tokyo Institute of Technology นำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับ วงจรแปลงผันกำลังไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Modular Multilevel Cascade Converter เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับระบบกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังสูงสุดตั้งแต่ 5 -10 เมกะวัตต์

 นายประชา คำภักดี นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชา วิศวกรรมไฟฟ้า ณ Tokyo Institute of Technology นำเสนองานวิจัยหัวข้อ “Study of a Back-To-Back (BTB) System Using Modular Multilevel Cascade Converters for Power Distribution Systems” ศึกษาเกี่ยวกับการควบคุมกำลังไฟฟ้าด้วยการประยุกต์ใช้ระบบแปลงผันกำลังไฟฟ้าหลายระดับแบบโมดูลที่ต่อแบบแบคทูแบคสำหรับระบบจำหน่ายไฟฟ้า ในกรณีที่มีแหล่งกำเนิดไฟฟ้าย่อยๆ ที่ผลิตจากพลังงานทดแทน เช่น โซล่าเซลล์ กังหันลม เป็นต้น เชื่อมต่อกับสายส่งของการไฟฟ้าในระบบจำหน่าย อาทิเช่น สายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทำหน้าที่เสมือนวาล์วทางไฟฟ้า ส่งผลให้แรงดันของระบบมีเสถียรภาพมากขึ้นและใช้ประโยชน์จากกำลังไฟฟ้ารวมที่ผลิตจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้าย่อยๆได้ทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ

น.ส.วาสนา แผลติตะ นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชา Biology เน้น Biotechnology Chiba University นำเสนองานวิจัยหัวข้อ “Establishment of Transformation System and Production of Transgenic Plants Expressing Blue Gene in Dendrobium” เพื่อศึกษาวิธีการนำยีนสีน้ำเงินที่สกัดจากพืชเข้ากล้วยไม้หวายโดยวิธี Agrobacterium และศึกษาการแสดงออกของยีนสีน้ำเงินในกล้วยไม้หวายที่มีความหลากหลายของพื้นฐานยีนอันเกิดจากการนำ Protocorm ผลที่ได้รับ ประสิทธิภาพการถายยีนโดยใช้ Protocorm นั้นสูงถึง 27 เปอร์เซนต์ ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดในการถ่ายยีนของ Dendrobium จากยีนพื้นฐาน (ที่ไม่ใช่สีน้ำเงิน) และจากเปอร์เซนต์ที่สูงนี้เมื่อนำยีนสีน้ำเงินเข้าไปแล้ว ทำให้สามารถผลิตพืชที่ถูกนำเข้าด้วยสีน้ำเงินมีประมาณมากและมีความหลากหลายทางพันธุกรรมได้ และขณะนี้กำลังปลูกพืชที่ถ่ายยีนไว้ข้างนอกโดยปัจจัยธรรมชาติและรอการศึกษาทาง Phenotype (รูปลักษณ์ภายนอก) ของ Dendrobium

หลังจากนั้น ได้แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม (A-F) เพื่อทำกรุ๊ปเวริค์แยกตามประเภทสาขาวิชาที่ผู้เข้าร่วมศึกษาอยู่ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในหัวข้อ “เรียน รอด รอบรู้ ในประเทศญี่ปุ่น” โดยแบ่งเป็น “เรียน & รอด” จำนวน 3 กลุ่ม และ “รอบรู้ & รอด” อีก 3 กลุ่ม โดยให้เวลาในการระดมกำลังสมอง 1 ชั่วโมง 30 นาที และส่งตัวแทนออกมานำเสนอกลุ่มละ 5 นาที

 ในเซคชั่นนี้ นักเรียนทุนได้แลกเปลี่ยนเล่าประสบการณ์ที่ตัวเองพบระหว่างที่ศึกษาในระดับต่างๆ ที่ประเทศญี่ปุ่น ด้านการเรียน การทำวิจัย การใช้ชีวิต และการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ฯลฯ สรุปประเด็นของแต่ละกลุ่มได้ย่อยๆ ดังนี้

 -กลุ่ม Com+Math : เน้นปัญญาเกี่ยวกับด้านการเรียน เช่น ภาษา การสอบวัดระดับนักศึกษาต่างชาติเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย (EJU) การกำหนดหัวข้อวิจัย อาจารย์ที่ปรึกษาไม่ค่อยมีเวลาให้ และการส่งผลงานตีพิมพ์ถูกรีเจ็คให้กลับมาแก้ไข และรอดที่เกี่ยวกับการเอาตัวรอดในการอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นที่ๆ มีภัยธรรมชาติและการปรับตัวให้เข้ากับสังคม

 -กลุ่ม Dออก : เกี่ยวกับการ “รอด” ได้ตั้งประเด็นปัญหาและประสบการณ์ที่พบเจอ เช่น เพื่อนสนิทหายาก เข้ากลุ่มกับคนญี่ปุ่นลำบาก เจอกันนอกแลปจะไม่ทัก และแนะนำหนทางแก้ไข เช่น คบกับคนญี่ปุ่นที่เคยไปต่างประเทศ กล้าเข้าไปพูดคุยก่อน การชวนไปดื่มกินสังสรรค์ นอกจากนี้ สำหรับการรอบรู้ ได้แนะนำเกี่ยวกับการปรับใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้ที่ญี่ปุ่นไปใช้ในประเทศไทย เช่น ความตรงต่อเวลา การวางแผน ขยัน & ซื่อสัตย์ การดูแลเอาใจใส่ลูกค้า ความสะอาด ปฏิบัติตามกฎ ฯลฯ

 -กลุ่ม Bioloจ๋า : ได้ตั้งคำนิยามในการ “รอด” และ “รอบรู้” ว่า เพื่อรอดต้อง “สุขภาพดี ชีวีปลอดภัย ใส่ใจสังคม สะสมเงินทอง” และหากจะรอบรู้ต้อง “เข้าใจไทย ใส่ใจญี่ปุ่น อุ่นใจเครือข่าย อย่าหน่ายจริยธรรม” เพื่อการจำได้ขึ้นใจสามารถรู้สึกถึงได้และนำมาใช้ได้ทุกเวลา

 -กลุ่ม Electric + Industrial Eng. : แสดงละครจำลองการส่งผลงานพิจารณาลงตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการให้เข้าใจง่าย และชี้ให้เห็นว่าไม่ควรวางใจเกินไปว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปลอดภัย ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทและระมัดระวังพวกมิจฉาชีพ จากประสบการณ์จริงของสมาชิกที่ได้ประสบมา

 - กลุ่ม Eนี่ : ชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นทำงานกันเป็นทีมไม่ได้เป็นแบบทางเดียวอย่างของไทยที่หัวหน้าสั่งลูกทีมทำ และชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการตรงต่อเวลาและการนัดหมาย อธิบายเกี่ยวกับ Culture Shock ที่ประสบเวลากลับประเทศไทย

 - กลุ่ม Humanities : แนะนำเกี่ยวกับเสต็ปแห่งความรอบรู้ว่า ประกอบไปด้วย 1. การวางแผน ด้านการศึกษา เส้นทางชีวิตหลังสำเร็จการศึกษา 2. ศึกษา+ฝึกฝน โดยการสร้าง Network    หาข้อมูลเกี่ยวกับงาน หูตากว้างไกล คิดสร้างสรรค์+คิดนอกกรอบ 3. ปฏิบัติ มองโลกแห่ง   ความจริง นำความรู้ +ทักษะมาใช้จริง มุ่งมั่นตั้งใจเป็นคนดี มีความกระตือรือร้นไม่หยุดที่จะเรียนรู้ มีพัฒนาและต่อยอด    และสำหรับหนทางการรอด เพื่อที่จะอยู่ที่ญี่ปุ่นได้อย่างมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่มีปัญหาทางภาษา รับมือในกรณีฉุกเฉินได้    ทางกลุ่มแนะนำว่า ต้องสร้างเพื่อนที่ยินดีให้ความช่วยเหลือกับเราได้

จากวิธีการนำเสนอที่เต็มไปด้วยการสร้างสรรค์ มีทั้งการวาดภาพและแผนผัง รวมทั้งการแสดงละครจำลองให้ผู้ฟังจำและเข้าใจง่าย สอดแทรกความตลกขำขันสร้างบรรยายกาศที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ชื่นมื่นและเป็นกันเอง เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากกลุ่มอื่นในการโหวตกลุ่มผู้ชนะเพื่อรับรางวัลที่ 1-3 และรางวัลขวัญใจต่างๆ อีก 3 รางวัลจากอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการศึกษา)

 ในโอกาสนี้ สนร.ขอขอบคุณคณะจัดงานและวิทยากรทุกท่านที่ได้ทุ่มเทและตั้งใจในการเตรียมการและจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ อีกทั้งนักเรียนทุนทุกท่านที่มาเข้าร่วมและให้ความร่วมมือสนุกสนานกับกิจกรรมต่างๆ ที่ทางคณะได้จัดเตรียม สนร.หวังว่าเนื้อหาในการอภิปราย ประเด็นหารือหรือข้อคิดเห็นต่างๆ ที่ได้จากการถกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างสมาชิกกลุ่มและระหว่างกลุ่มจะเป็นข้อมูลความรู้เพื่อที่เราจะได้ “เรียนและรอด” ระหว่างศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นและกลายเป็นบุคลากรที่ “รอบรู้” นำกลับไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหลังจากที่ทุกท่านได้สำเร็จการศึกษาแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Latest News

  • 1
  • 2
  • 3